วันพุธที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2567

ไอร์แลนด์-ไทย เสริมแกร่งความสัมพันธ์ ร่วมมือยกระดับพันธมิตรการค้า เปิดประตูตลาดอาหารและการเกษตร



กรุงเทพ ฯ 8 ตุลาคม 2567, การเดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อภารกิจการค้า นำโดย นางพิปปา แฮ็คเก็ตต์ รัฐมนตรีการกระทรวงเกษตรอาหาร และทะเลแห่งไอร์แลนด์ ได้เสริมสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างภาคอุตสาหกรรมอาหาร และเกษตรของไอร์แลนด์กับอุตสาหกรรมอาหารของไทย ภารกิจการค้าครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-8 ตุลาคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในอนาคตสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจให้แข็งแกร่งขึ้น และขยายโอกาสในการส่งออกสำหรับอาหารและเกษตรของไอร์แลนด์ในตลาดไทยการเดินทางเพื่อภารกิจการค้าครั้งนี้ประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ส่งออกจากไอร์แลนด์และผู้นำอุตสาหกรรมไทยได้มีเวทีพิเศษเพื่อหารือถึงโอกาสใหม่ ๆ และเสริมสร้างความสัมพันธ์ในภาคการนำเข้า-ส่งออกอาหาร ผลิตภัณฑ์นม และเนื้อวัว

ไอร์แลนด์ส่งออกผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารไปยังมากกว่า 180 ประเทศทั่วโลก คิดเป็นมูลค่า16,300 ล้านยูโร หรือ 5.8 ล้านล้านบาท ในปี 2023 โดย 1,200 ล้านยูโรถูกส่งออกไปยังประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชีย และ 57,600 ล้านยูโรส่งออกมายังประเทศไทย โดย กลยุทธ์ Food Vision 2030 ที่ขับเคลื่อนการเติบโตของภาคเกษตรและอาหารซึ่งกำหนดแผนที่ชัดเจนและมีความมุ่งมั่น สำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของไอร์แลนด์ โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มมูลค่านี้ให้ถึง 2 หมื่นล้านยูโร หรือ 7 แสนล้านบาทภายในปี 2030


จากการศึกษาการลำดับความสำคัญของตลาด (Prioritizing market) ของ Bord Bia ระบุว่าประเทศไทย เวียดนาม และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญสำหรับการส่งออกอาหารและเครื่องดื่มของไอร์แลนด์ เนื่องจากมีโอกาสทางการตลาดที่สูง สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์นม โดยตั้งแต่ปี 2019 การส่งออกผลิตภัณฑ์นมไปยังประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 24 ล้านยูโรเป็น 54.9 ล้านยูโรในปี 2023 โดยสัดส่วนการเติบโตสูงสุดมาจากนมผงไขมันเต็ม นมผงพร่องมันเนย และอาหารสำหรับทารก ขณะที่ผลิตภัณฑ์เนยก็เติบโตมากขึ้นจากเริ่มต้นที่ 1 ล้านยูโรในปี 2022 และเพิ่มขึ้นเป็น 3.2 ล้านยูโรในปี 2023
กลุ่มประเทศที่ถือเป็นตลาดส่งออกสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย เวียดนาม มาเลเซียฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ อีกทั้งเอเชียยังคงเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง และมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการส่งออกอาหารทะเลและเครื่องดื่มของไอร์แลนด์ โดยการส่งออกอาหารทะเลไปยังประเทศไทยมีมูลค่าถึง 306,000 ยูโร หรือ 11 ล้านบาท ในปี 2023 ฐานผู้บริโภคที่ขยายตัวของประเทศไทยและความนิยมที่เพิ่มขึ้นต่อผลิตภัณฑ์อาหารพรีเมียมและเพื่อสุขภาพ ทำให้ตลาดมีความสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับอาหารและเครื่องดื่มจากไอร์แลนด์โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงและการขยายตัวของเมือง ส่งผลให้ผู้บริโภคมองหาทางเลือกที่สะดวกและมีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น

แม้ว่าไอร์แลนด์จะให้ความสำคัญกับการส่งออกอาหารและเครื่องดื่มระดับพรีเมียม และสร้างความสัมพันธ์ทางการค้ากับธุรกิจร้านอาหารและภัตตาคาร โดยเฉพาะการให้บริการด้านอาหารของโรงแรมหรูในประเทศไทย Bord Bia (คณะกรรมการอาหารแห่งสาธารณรัฐไอร์แลนด์) ก็ยังตระหนักถึงความสำคัญของการเพิ่มการเข้าถึงสินค้าสำหรับผู้บริโภคชาวไทย ในการนี้ Bord Bia ได้หารือกับผู้ผลิตและผู้ส่งออกเกี่ยวกับการกำหนดช่วงราคาที่เหมาะสม รวมถึงวิธีการลดต้นทุนการผลิต ในขณะเดียวกันยังคงรักษาคุณภาพตามมาตรฐานระดับสูง เพื่อนำไปสู่การค้าที่ยั่งยืนในอนาคต

“พวกเรารู้สึกตื่นเต้นที่ได้มาเยือนประเทศไทยเพื่อสำรวจโอกาสทางการค้าสำหรับอาหารและเครื่องดื่มจากไอร์แลนด์ การเยือนประเทศไทยครั้งนี้เน้นย้ำถึงความตั้งใจของเราในยุทธศาสตร์ Food Vision 2023 เป็นแนวทางสำคัญที่เรายึดถือในการผลิตอาหารและสินค้าการเกษตรอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “From Farm to Fork” มุ่งเน้นการทำเกษตรและอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยคำนึงถึงความยั่งยืนตลอดกระบวนการผลิต ซึ่งช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ในการเลือกซื้อสินค้าที่คำนึงถึงความยั่งยืนอย่างแท้จริง และในฐานะสมาชิกสหภาพยุโรป เรากำลังเปิดตัวแคมเปญผลิตภัณฑ์นมเป็นระยะเวลา 3 ปีในประเทศไทย จากที่สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของไอร์แลนด์เป็นข้อได้เปรียบที่แตกต่างสำหรับการผลิตสินค้าพรีเมียม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการค้าและผู้บริโภค และภารกิจการค้าครั้งนี้ก็ถือเป็นก้าวสำคัญของความร่วมมือระหว่างเรากับประเทศไทย” รัฐมนตรี พิปปา แฮ็คเก็ตต์ แห่งไอร์แลนด์ กล่าว

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา มีการเปิดตัวสัมมนาผลิตภัณฑ์นมแห่งสหภาพยุโรป (Bord Bia EU Dairy Seminar) ซึ่งมุ่งเน้นการส่งเสริมคุณภาพและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์นมจากสหภาพยุโรป โดยเฉพาะจากไอร์แลนด์ การสัมมนาครั้งนี้มีเข้าร่วมถึง 70 รายจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์นม ผู้จัดจำหน่าย และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนี้ โดยมุ่งเน้นเรื่องนวัตกรรมและการทำฟาร์มโคนมอย่างยั่งยืน กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะเพิ่มการรับรู้และตระหนักถึงผลิตภัณฑ์นมจากไอร์แลนด์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกระตุ้นปริมาณการส่งออกมายังภูมิภาคนี้ให้มากขึ้น
ปิดท้ายวันด้วยงานเลี้ยงต้อนรับการค้าระหว่างไอร์แลนด์และไทย ซึ่งมี 85 ผู้ส่งออกจากไอร์แลนด์ ผู้จัดจำหน่ายและผู้นำเข้าในไทย รวมถึงผู้ค้าปลีกและผู้ให้บริการด้านอาหารเข้าร่วมด้วย เพื่อเฉลิมฉลองความร่วมมืออันดีและสำรวจโอกาสทางธุรกิจสำหรับตลาดไทยและไอร์แลนด์ อีกทั้งยังมีการสัมภาษณ์พิเศษสำหรับสื่อมวลชนไทย ซึ่งเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของไอร์แลนด์ และเป้าหมายของการเดินทางภารกิจการค้าครั้งนี้

นายจิม โอทูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคณะกรรมการอาหารแห่งสาธารณะไอร์แลนด์ (Bord Bia) ได้กล่าวว่า “ประเทศไทยเป็นตลาดสำคัญสำหรับไอร์แลนด์ และเป็นโอกาสที่ดีอย่างมากสำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์นม และอาจรวมถึงเนื้อวัวของเราในอนาคต สภาพภูมิประเทศอันอุดมสมบูรณ์ของเราส่งเสริมการผลิตผลิตภัณฑ์นมและเนื้อวัวที่เน้นเลี้ยงด้วยหญ้า เอื้อให้เกิดผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง เราเข้าใจถึงความใส่ใจของผู้บริโภคไทยในเรื่องที่มาของอาหาร และเชื่อว่าการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับอุตสาหกรรมของเราจะช่วยแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของอาหารและเครื่องดื่มจากไอร์แลนด์มากขึ้น แม้ว่าประเทศเราจะมีประชากรไม่มาก แต่เราก็เป็นผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ และให้ความสำคัญกับคุณภาพและความยั่งยืนผ่านโครงการ Origin Green ของเรา เรามั่นใจถึงศักยภาพในความร่วมมือของเรากับประเทศไทยอย่างยิ่ง”

ท่ามกลางกระแสของภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อทุกภูมิภาคทั่วโลก รวมถึงภาคเกษตรกรรมของไอร์แลนด์ รัฐมนตรี พิปปา แฮ็คเก็ตต์ แห่งไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นเกษตรกรเองเช่นกัน ได้แบ่งปันแนวทางในการรับมือกับปัญหานี้ว่า รัฐบาลไอร์แลนด์ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกหญ้าหลากหลายชนิดในพื้นที่การเกษตร โดยความยาวของรากที่แตกต่างกันช่วยให้สามารถกักเก็บความชื้นในดินและซึมซับได้ในทุกสภาพอากาศ นอกจากนี้ พวกเขายังส่งเสริมการปลูกต้นไม้ใกล้ทางน้ำเพื่อช่วยเสริมโครงสร้างดินที่แข็งแรงและลดโอกาสที่น้ำเสียจะไหลลงสู่แหล่งน้ำสะอาด


นอกจากนี้ นายจิม โอทูล ยังกล่าวเสริมว่า Bord Bia ได้ร่วมมือกับเกษตรกรชาวไอริชกว่า 100,000 ราย และองค์กรต่าง ๆ เพื่อทำการวัดค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากพื้นที่การเกษตร พร้อมทั้งค้นหาวิธีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยไม่กระทบต่อคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร อีกทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มนิยมบริโภคอาหารจากพืชมากขึ้น Bord Bia ตระหนักถึงความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์ทางเลือกหลากหลายในภาคผลิตภัณฑ์นม โดยเข้าใจว่าผู้บริโภคมองหาผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดเพื่อตอบสนองความต้องการส่วนบุคคล Bord Bia จึงมุ่งมั่นที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์หลากหลาย เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจเลือกซื้อได้ตามความต้องการเฉพาะตัวมากขึ้น และในขณะที่รสนิยมและความชื่นชอบของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลง Bord Bia ยังคงมุ่งเน้นในการส่งมอบผลิตภัณฑ์นมรสชาติดี คุณภาพสูงที่สอดคล้องกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงเหล่านี้
ภารกิจการค้านี้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของไอร์แลนด์ในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศไทยผ่านการแลกเปลี่ยนนวัตกรรมด้านอาหารและเกษตรกรรม ในขณะที่ประเทศไทยยังคงมองหาผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพสูงและยั่งยืน ผู้ส่งออกจากไอร์แลนด์จึงอยู่ในฐานะของผู้จะตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นในภาคเนื้อวัว ผลิตภัณฑ์นม และภาคอาหารและเกษตรอื่นๆ ที่ดีสำหรับประเทศไทย


เกี่ยวกับ BORD BIA

Bord Bia เป็นหน่วยงานของรัฐบาลไอร์แลนด์ที่ดูแลการส่งเสริม พัฒนาการค้า และการตลาดของอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และเกษตรกรรม โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงดับลิน Bord Bia มุ่งสนับสนุนธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ผ่านโครงสร้างองค์กรที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและเครือข่ายสำนักงานทั้งในภูมิภาคเอเชีย, ยุโรป ตะวันออกกลางและแอฟริกา (EMEA) และสหรัฐอเมริกา สำหรับสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในสิงคโปร์มี Lisa Phelan เป็นผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ปี 2023 เพื่อสนับสนุนผู้ส่งออกชาวไอริชที่มุ่งเน้นตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : https://www.bordbia.ie/

 





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น