วันพุธที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

"สมเด็จธงชัย" มอบนโยบาย "หมู่บ้านศีล 5 " เชิงรุก แนะใช้สำนักปฏิบัติธรรมขับเคลื่อนงาน


ที่หอประชุมพุทธมณฑล จ.นครปฐม 

สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช)  หรือ "สมเด็จธงชัย" ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการ โครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา "หมู่บ้านรักษาศีล 5" เป็นประธานการประชุมเพื่อรับมอบนโยบายในการขับเคลื่อนโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา "หมู่บ้านรักษาศีล 5" ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 
พร้อมทั้งมอบพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชแต่งตั้ง คณะกรรมการบริหารกลาง และคณะกรรมการบริหารของแต่ละหน ในการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวด้วย  
สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี กล่าวว่า นับตั้งแต่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) อดีตเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ อดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ได้ดำเนินโครงการนี้มาตั้งแต่ต้นนั้น นับได้ว่าเป็นโครงการที่สามารถยังประโยชน์ต่อการสร้างสังคมให้มีความสุขด้วยหลักพุทธธรรม การดำรงชีวิต โดยนำหลักศีล 5 ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม และได้มีการพัฒนาโครงการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในปี 2566 ได้มีการจัดทำระเบียบ ตั้งคณะกรรมการ โดยบูรณาการร่วมกันทั้งในส่วนของคณะสงฆ์ ภาครัฐ และภาคเอกชน เห็นควรกำหนดกรอบ ทิศทาง แนวนโยบาย และยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน
โครงการดังกล่าว ในเชิงคุณภาพ มุ่งเน้นการพัฒนาทางด้านจิตใจให้มากขึ้น โดยยึดหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นหัวใจสำคัญ คือ หลักไตรสิกขา อันเป็นธรรมแห่งการพัฒนาชีวิตให้ประสบความสำเร็จตามหลักพระพุทธศาสนา คือ 1.อธิศีลสิกขา 2.อธิจิตตสิกขา 3.อธิปัญญาสิกขา  เพราะศีล สมาธิ ปัญญา เป็นหลักสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5  และต้องบูรณาการร่วมกับศิลปวัฒนธรรมอันเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน ความเป็นตัวตนของชุมชน การประกอบสัมมาชีพ ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อให้การพระพุทธศาสนาดำเนินควบคู่ไปกับศิลปวัฒนธรรมให้คงอยู่สืบไป ซึ่งจะยังประโยชน์ให้พุทธศาสนิกชน มีศีล มีธรรม มีสุข ได้อย่างมีรูปธรรม ทั้งนี้คณะกรรมการบริหารกลางต้องจัดทำแผนในการปฏิบัติ เพื่อความชัดเจน และนำสู่การปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ขณะที่คณะกรรมการประจำ ต้องออกตรวจการ และติดตามการดำเนินการ โดยกำหนดเป้าหมายในระยะเริ่มต้นปีงบฯ 2566 
และรายงานผล สรุปผลการดำเนินโครงการในรอบปีที่ผ่านมา โดยให้ผู้แทนแต่ละภูมิภาคสรุปปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไข  

สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี กล่าวต่อไปว่า ในฐานะที่ตนได้รับมอบหมายเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการ  ขอเสนอแนะให้มีการทำงานเชิงรุก เพื่อให้สามารถทำงานกับชุมชนได้อย่างราบรื่น โดยเสนอให้ใช้สำนักปฏิบัติธรรมแต่ละจังหวัด เป็นศูนย์กลางในการดำเนินงานแต่ละภูมิภาค เพราะโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ต้องเพิ่มศักยภาพสู่สมาธิ และเพิ่มศักยภาพให้ประชาชนมีปัญญา ส่งผลให้สังคมมีปัญญา และสันติสุขจะเกิดขึ้น  และขอฝากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ว่า โครงการนี้ต้องเชื่อมโยงกับภารกิจของพศ. ด้วย โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด (พศจ.) แต่ละจังหวัด ต้องประเมินและสรุปการทำงานเพื่อวางแนวทางในการพัฒนาให้เดินหน้าต่อไป จะได้รู้ว่าปีต่อไปจะต้องแก้ไขปรับปรุงอย่างไร ให้สอดคล้องกับสังคม 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น