วันเสาร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท) เปิดเส้นทางความเชื่อความศรัทธาแห่งลุ่มแม่น้ำโขง นำอัตลักษณ์และวิถีชีวิตท้องถิ่นผ่านคติความเชื่อเรื่อง “พญานาค” เชื่อมต่อ 5 จังหวัดท่องเที่ยวภาคอีสาน

ศรัทธานำทาง เส้นทางนำเที่ยว

กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท) เปิดเส้นทางความเชื่อความศรัทธาแห่งลุ่มแม่น้ำโขง นำอัตลักษณ์และวิถีชีวิตท้องถิ่นผ่านคติความเชื่อเรื่อง “พญานาค” เชื่อมต่อ 5 จังหวัดท่องเที่ยวภาคอีสาน 
ในวันนี้ 8 กรกฎาคม 2566 นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท. ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการชุมชนท่องเที่ยว 
ร่วมเปิดกิจกรรมตามรอยเส้นทางธรรมแห่งศรัทธา “เส้นทางความเชื่อความศรัทธาแห่งลุ่มแม่น้ำโขง” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในเชิงศาสนา พัฒนาวัด ศาสนสถาน และชุมชน ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิต พร้อมรับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ
ในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการชูเอกลักษณ์ประจำชาติประเภทสัตว์ในตำนาน ซึ่งได้ประกาศในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อสร้างให้เกิดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และวัฒนธรรมของชาติ อีกทั้งยังเป็น Soft Power ในการนำทุนวัฒนธรรมมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและนำรายได้เข้าประเทศ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ได้ดำเนินการจัดงาน “เส้นทางความเชื่อความศรัทธาแห่งลุ่มแม่น้ำโขง” โดยบูรณาการงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค ท้องถิ่น รวมทั้งภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างเข้มแข็ง นำอัตลักษณ์ วิถีชีวิตท้องถิ่นของคนลุ่มแม่น้ำโขงที่มีคติความเชื่อเรื่อง “พญานาค” มาเป็น Soft Power ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งจากชาวไทยและชาวต่างชาติ เชื่อมต่อเส้นทางท่องเที่ยวในมิติศาสนาและวัฒนธรรม 5 จังหวัดภาคอีสาน ประกอบด้วย จังหวัดนครพนม มุกดาหาร บึงกาฬ หนองคาย และอุดรธานี
สำหรับเส้นทางความเชื่อความศรัทธาแห่งลุ่มแม่น้ำโขงของทั้ง 5 จังหวัดนั้น นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสัมผัสวิถีชีวิตของผู้คนริมแม่น้ำโขงที่สะท้อนผ่านความเชื่อความศรัทธาและภูมิปัญญาท้องถิ่นได้ โดยเส้นทางดังกล่าวประกอบด้วย 1.จังหวัดนครพนม ได้แก่ วัดมหาธาตุ ลานพญาศรีสัตตนาคราช วัดพระธาตุพนม 2.จังหวัดมุกดาหาร ได้แก่ ลานพญาศรีภุชงค์มุกดานาคราช พญาอนันตนาคราช วัดรอยพระพุทธบาทภูมโนรมย์ 3.จังหวัดบึงกาฬ ได้แก่ ถ้ำนาคา เจ้าปู่อือลือนาคราช 4.จังหวัดหนองคาย ได้แก่ พระธาตุหล้าหนอง วัดโพธิ์ชัย พระธาตุบังพวน และ 5.จังหวัดอุดรธานี ได้แก่ วังนาคินทร์ คำชะโนด ซึ่งเส้นทางดังกล่าวนี้ จะเป็นการเชื่อมต่อการท่องเที่ยว โดยนำอัตลักษณ์ และวิถีชีวิตท้องถิ่นจากคติความเชื่อเรื่อง “พญานาค” ต่อยอดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างเข้มแข็งและทรงพลัง
#Amazingthailand 
#โมเม้นต์ที่ใช่สร้างได้ไม่ต้องรอ
#ตะลอนไปทั่ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น